Soap Making Process
Soap Process การทำสบู่นํ้ามันแฮนด์เมดสามารถแบ่งวิธีการทำออกเป็น 2 วิธีหลัก ซึ่งเป็นวิธีที่ที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำสบู่จากน้ำมันธรรมชาติ
สบู่แบบกวนเย็น (Cold Process : CP) คือการผสมวัตถุดิบระหว่างสารละลายด่าง (ในที่นี่เรียกว่านํ้าด่าง คือการนํ้าโซดาไฟเทผสมลงในนํ้า ตามอัตราส่วนของสูตรสบู่) และกรดไขมัน (ในที่นี่เรียกว่านํ้ามัน) ให้เหมาะสมกับสภาพผิว เมื่อผสมนํ้ามันและนํ้าด่างให้เข้ากันดี ส่วนผสมทั้งสองจะเกิดการทำปฏิกริยา (Saponification : ซาปอนนิฟอเคชั่นส์) คือการที่นํ้าด่างเข้าทำปฎิกริยากับนํ้ามัน โดยเปลี่ยนนํ้ามันให้กลายเป็นเนื้อสบู่ ซึ่งเมื่อกวนส่วนผสมให้เกิดเป็นเนื้อสบู่ไปเรื่อยๆ จะเกิดลักษณะเทรซ (Trace) คือสบู่จะค่อยๆ เปลี่ยนสภาพกลายเป็นเนื้อครีมที่มีความข้นขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากเนื้อที่ยังดูบางเบา เริ่มเป็นเงามากขึ้น เมื่อยกขึ้นมาและสบัดไม้พาย เนื้อจะสบู่จะกลืนกลับลงไป ช่วงนี้จะเรียกว่าไลท์เทรซ (Light trace) เมื่อกวนต่อไปอีก เนื้อสบู่จะเริ่มมีความข้น และจับตัวเป็นเนื้อครีมที่มีความหนืดขึ้น ช่วงนี้จะเรียกว่ามีเดียมเทรซ (Medium trace)เมื่อยกขึ้นมาและสบัดไม้พาย เนื้อจะสบู่จะไม่กลับไปรวมตัวกับส่วนเดิม แต่จะเห็นเป็นเส้นบางๆด้านบนเนื้อสบู่ และถ้าหากยังกวนต่อไปเนื้อสบู่จะมีความหนืด ข้น จับตัวเป็นเหนียวมากขึ้น ลักษณะคล้ายครีมหรือเนยที่ไม่แข็งมาก ช่วงนี้จะเรียกว่าเฮฟวี่เทรซ (Heavy trace) ซึ่งในขั้นตอนการทำสบู่นั้นจะนิยมผสมให้อยู่ในช่วงไลท์ ค่อนไปทางมีเดี่ยม แล้วจึงเทลงโมลด์ที่เตรียมไว้ ระหว่างที่สบู่อยู่ในโมลด์ประมาณชั่วโมงที่ 2-4 เนื้อสบู่จะเกิดความร้อนสูงมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดจากการ Spon ความร้อนนี้เองจะส่งผลเร่งให้ด่างทำปฎิกริยากับกรดไขมันให้ส่วนผสมกลายสภาพจากของเหลวเป็นของแข็งกลายเป็นสบู่ก้อนอย่างสมบูรณ์ (ความแข็งของสบู่ขึ้นอยู่กับนํ้ามันที่ใช้ในสูตร) ระหว่างการเกิดสบู่นั้น ภายในแแบซของสบู่ที่ทำนั้นจะมีกลีเซอลีนตามธรรมชาติเกิดขึ้นภายในเนื้อสบู่ด้วย ซึ่งกลีเซอลีนนี้เองจะช่วยทำให้เกิดความนุ่มนวลต่อผิวเวลาใช้งานและตัวกลีเซอลีนนี้จะมีคุณสมบัติในการเคลือบ กักเก็บความชุ่มชื้นและบำรุงผิว หลังจากจบขั้นตอนการผสมและเทสบู่ลงโมลด์แล้วจะต้องทิ้งสบู่ไว้ในโมลด์อย่างน้อย 24-48 ชม. ก่อนที่จะนำออกมาตัดแบ่งเป็นก้อน (อาจจะต้องใช้เวลาที่นานขึ้น หากใช้ปริมาณนํ้ามันอ่อนมากขึ้น หรือลดเวลาลงเมื่อใช้นํ้ามันแข็งในปริมาณมากหรือนํ้ามันแข็ง 100%) เมื่อตัดสบู่แล้วจะต้องทำการตากสบู่ หรือเรียกว่าการบ่มสบู่ (Cure) ทิ้งไว้อย่างน้อย 4 สัปดาห์ เพื่อให้ค่า ph ลดลงจนเหมาะกับสภาพผิวที่ 8-10 และระหว่างสบู่การบ่มนี้สบู่จะคายนํ้าออกเรื่อยๆ ทำให้สบู่แข็งตัวมากขึ้นและมีความละมุนในการใช้งาน
วิธีการทำสบู่น้ำมันแบบกวนเย็น : Soap Making – The Unicorn by NatureDaily
สบู่แบบกวนร้อน (Hot Process : HP) จะเริ่มขั้นตอนการทำแบบสบู่กวนเย็น (Cold Process) โดยจะกวนให้เนื้อสบู่เป็นไลท์-มีเดียมเทรซ (Light-Medium trace) แล้วจึงจัดเทเนื้อสบู่ที่ได้ลงหม้อตุ๋น (Slow cook ที่ตัวหม้อเป็นเนื้อเซรามิค) ระหว่างการกวนสบู่ จะตั้งไฟที่ร้อนสุด (High) ประมาณ 5-10 นาที ก่อนเทเนื้อสบู่ลงไป และจะทำการลดไฟเป็นไฟอ่อน (Low) เมื่อเทสบู่ลงหม้อตุ๋น การตุ๋นจะใช้เวลาประมาณ 40 นาที ถึง 1 ชม. สำหรับสบู่สูตรนํ้ามันไม่เกิน 1 กิโลกรัม หรือต้องใช้เวลามากขึ้นหากสบู่มีปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องใช้หม้อตุ๋นขนาดใหญ่ ระหว่างการตุ๋น เนื้อสบู่จะค่อยๆ เจลหรือสุกจาก รอบๆ หม้อตุ๋น โดยจะเปลี่ยนสีจากเนื้อครีม เป็นสีนํ้าตาลอ่อนใส (ความเข้มของสีจะเปลี่ยนไปตามนํ้ามันในสูตร) หากสบู่ไม่เกิดการฟูล้นหม้อ (การฟูเกิดจากสูตรที่มีนํ้ามันแข็งมาก ทำให้เกิดความร้อนสูง เนื้อสบู่จะฟูขึ้นหม้อ ทำให้ต้องคอยสังเกตและคนให้สบู่กลับลงไปก้นหม้อ) ไม่ต้องทำการเปิดฝาเพื่อคนเลย เพราะการเปิดฝาหม้อบ่อยๆ จะทำให้เนื้อสบู่เกิดการสูญเสียนํ้า ความชื้นจากเนื้อสบู่โดยไม่จำเป็น หากจำเป็นจะคนเพียง 1-2 ครั้งเท่านั้น เมื่อสบู่สุกจะมีลักษณะเป็นเนื้อเจลแบบแยมแอปเปิ้ลหรือมันบดทั่วทั้งหม้อ (ขึ้นอยู่กับสีของนํ้ามันที่ใช้ในสูตร) ตักขึ้นผสมสีในชามแบ่งที่จัดเตรียมไว้ (หากทำสีเดียวสามารถใส่สีลงในหม้อแล้วกวนได้เลย แต่สีบางตัวอาจเกิดเพี้ยนได้) เมื่อผสมสีเข้ากันได้ดี ดูเนียน เรียบแล้ว เทนํ้าหอมใส่แล้วคนให้เข้ากันอีกครั้ง จึงตักลงโมลด์ที่เตรียมไว้ สามารถเคาะหรือกระแทกโมลด์ที่พื้น เพื่อให้เนื้อสบู่จับตัวกันแน่นขึ้น หลังจากเทลงโมลด์เสร็จจะต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 12-48 ชม. (ขั้นอยู่กับนํ้ามันที่ใช้ในสูตร อาจจะต้องใช้เวลาที่นานขึ้น หากใช้ปริมาณนํ้ามันอ่อนมากขึ้น เพราะเนื้อสบู่จะนิ่ม) ก่อนที่จะตัดแบ่งเป็นก้อนเล็ก สบู่ประเภทกวนร้อนตามทฤษฎีค่าด่างจะทำปฎิกริยา Spon จะหมดแล้วจากความร้อนในหม้อตุ๋น ซึ่งค่า ph ลดลงจนสามารถใช้ฟอกผิวได้ ดังนั้นหลังจากตัดสบู่แล้วสามารถนำไปใช้ได้เลย แต่ในที่นี้วิเวียนขอให้ตากสบู่หรือเรียกว่าการบ่มสบู่ (Cure) ทิ้งไว้อย่างน้อย 2 สัปดาห์ เพราะสบู่แบบกวนร้อนจะมีความนิ่ม จากการกักเก็บนํ้าที่ทำในสูตรเหมือนสบู่กวนเย็น ซึ่งระหว่างสบู่การบ่มนี้สบู่จะคายนํ้าออกเรื่อยๆ ทำให้สบู่แข็งตัวมากขึ้นและมีความละมุนในการใช้งาน
วิธีการทำสบู่น้ำมันแบบกวนร้อน : Soap Making – Cocoa Butterfly by NatureDaily